ฎีกา คือวรรณกรรมภาษาบาลี ที่แต่งเพื่ออธิบายความในคัมภีร์อรรถกถาของอรรถกถาจารย์ที่ได้ไขความในพระไตรปิฎกไว้ คัมภีร์ชั้นฎีกาจัดเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์อรรถกถาที่ขยายความในพระไตรปิฎก เรียกว่า คัมภีร์ชั้นสาม คัมภีร์ฎีกามีความแตกต่างกับคัมภีร์อรรถกถา (คัมภีร์ชั้นสอง) ที่วัตถุประสงค์ในการแต่งฎีกานั้นทำเพื่ออธิบายเนื้อความในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา หรือฎีกาด้วยกันเอง
อนุฎีกา คือปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายแต่งแก้หรืออธิบายเพิ่มเติมฎีกา ซึ่งอนุฎีกานี้นับเป็นหลักฐานชั้น 4 รองจาก พระไตรปิฎก อรรถกา และฎีกา เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น ในบางกรณีอนุฎีกา เรียกตามคำศัพท์เฉพาะตามภาษาบาลีว่า อภินวฎีกา ที่แปลว่า ฎีกาใหม่
ปกรณ์วิเสส เป็นคัมภีร์หรือหนังสือที่พิเศษ หรือแตกต่างไปจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งหลายที่มีอยู่เดิม ที่ไม่ได้แต่งอธิบายธรรมะตามคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งโดยเฉพาะอย่างอรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา หรือโยชนา แต่เป็นคัมภีร์หรือหนังสือที่พระคันถรจนาจารย์ได้รจนาขึ้น เพื่อแสดงความคิดเห็นอันเป็นภูมิรู้หรือภูมิธรรมของท่าน โดยศึกษาค้นคว้าและรวบรวมจากคัมภีร์ต่างๆ