ความหมายของพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก “ปิฎกสาม” ; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้วโดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่าคัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) 3 ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวดกล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก
ซึ่งหากเราจะนับจำนวนคำสอนทั้งปวงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สามารถนับได้ทั้งสิ้น 84000 พระธรรมขันธ์ (พระธรรมขันธ์ หมายถึง หมวด หรือกอง)

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
1.พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย สมัยเมื่อนิครนถ์ นาฎบุตร เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พวกสาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระเกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ในพระพุทธศาสนา จึงพร้อมกับพระอานนท์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงตรัสบอกพระจุนทะ ให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นต่อไป
2.พระสารีบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมจบแล้ว ได้มอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมต่อ พระสารีบุตรได้แนะนำให้รวบรวม ร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยจัดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 ว่ามีธรรมะใดบ้างอยู่ในหมวดนั้น ๆ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เห็นว่าบรรดาพระภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังธรรมต่อไปอีก พระองค์จึงได้มอบหมายให้พระสารีบุตร แสดงธรรมแทน พระสารีบุตรได้ แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 ว่ามีธรรมะใดบ้างอยู่หมวด 1 หมวด 2 จนถึงหมวด 10 ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
3.พระมหากัสสปะ เป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่
4.พระอานนท์ เป็นผู้ที่ทรงจำพระพุทธวรนะไว้ได้มาก เป็นพุทธอุปฐาก ได้ขอพร หรือขอรับเงื่อนไขจาก พระพุทธเจ้า 8 ประการ ในเงื่อนไขประการที่ 8 และประการที่ 8 มีส่วนช่วยในการ สังคายนาพระธรรมวินัยมาก กล่าวคือ ประการที่ ๗ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น ประการที่ 8 ถ้ำพระองค์แสดงข้อความอันใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้ว จักตรัสบอกข้อความอันนั้น แก่ข้าพระองค์
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์จึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ในคราวสังคายนาครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน
ในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเรื่องราวไว้ เป็นตัวอักษรอย่างกว้างขวาง เช่นในปัจจุบัน มนุษย์จึงต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องสำคัญ ในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากนี้ เรียกว่า มุขปาฐะ
5.พระอุบาลี เป็นผู้ที่สนใจ และจดจำพระธรรมพระวินัยได้เป็นพิเศษ มีความเชี่ยวชาญใน พระวินัย ในการทำสังคายนาครั้งแรก พระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับ พระวินัยปิฎก
6.พระโสณกุฎิกัณณะ เป็นผู้ที่ทรงจำได้ดีมาก เคยท่องจำบางส่วนของ พระสุตตันตปิฎก เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก รวมทั้งท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะ สละสลวย แสดงให้เห็นถึง การท่องจำพระธรรมวินัย ได้มีมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้า
ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
1. พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น 1 เรียกว่า พระบาลี
2.อรรถกถาหรือวัณณนา เป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น 2 มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 965
3.ฎีกา เป็นคำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้น 3 มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1587
4.อนุฎีกา เป็นคำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น 4
5.ปกรณ์วิเสส คัมภีรืตามปฏิภาณของพระเถระ เป็นหลักบานชั้นท้ายสุด
โครงสร้างพระไตรปิฎก
พระวินัยปิฎก
พระวินัยปิฎกประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น 5 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ
1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยตะ
2. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะรวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
3. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น 10 ขันธกะหรือ 10 ตอน
4. จุลวรรคว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย 12 ขันธกะ
5. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือบรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย
บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น 3 หมวด คือ
1. วิภังค์ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (คือรวมข้อ 1 และ 2 ข้างต้นทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน)
2. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ทั้ง 22 ขันธกะหรือ 22 บทตอน (คือรวมข้อ 3 และ 4 เข้าด้วยกัน)
3. ปริวาร คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ 5 ข้างบน)
พระสุตตันตปิฎก
พระสุตตันตปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนาคำบรรยายธรรมต่างๆที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล และโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่าและเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 5 นิกาย
(เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ
1. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว 34 สูตร
2. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง 152 สูตร
3. สังยุตตนิกายชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่ง ๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 56 สังยุตต์ มี 7762 สูตร
4. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวด ๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม 11 นิบาต หรือ 11 หมวดธรรมมี 9557 สูตร
5. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตรคาถาภาษิตคำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี 15 คัมภีร์
พระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎกประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่าสํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ
1. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
2. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
3. ธาตุกถาสงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
4. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติ ความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
5. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ 3
6. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
7. ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยท่านจัดแบ่งเป็น 45 เล่มแสดงพอให้เห็นรูปเค้าดังนี้

- เล่ม 1 มหาวิภังค์ ภาค 1
ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยตสิกขาบท (สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ 19 ข้อแรก) - เล่ม 2 มหาวิภังค์ ภาค 2 ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ (เป็นอันครบสิกขาบท 227 หรือ ศีล 227)
- เล่ม 3 ภิกขุนีวิภังค์ว่าด้วยสิกขาบท 311 ของภิกษุณี
- เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 มี 4 ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
- เล่ม 5 มหาวรรค ภาค 2 มี 6 ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนังเภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี
- เล่ม 6 จุลวรรค ภาค 1 มี 4 ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธีและการระงับอธิกรณ์
- เล่ม 7 จุลวรรค ภาค 2 มี 8 ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยเรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
- เล่ม 8 ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย
- เล่ม 9 สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว 13 สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
- เล่ม 10 มหาวรรค มีพระสูตรยาว 10 สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย "มหา" เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
- เล่ม 11 ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว 11 สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียง เช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
- เล่ม 12 มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง 50 สูตร
- เล่ม 13 มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลาง มีพระสูตรขนาดกลาง 50 สูตร
- เล่ม 14 อุปริปัณณาสก์ บั้นปลาย มีพระสูตรขนาดกลาง 52 สูตร
- เล่ม 15 สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัส และกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี 11 สังยุตต์
- เล่ม 16 นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัดเป็น 10 สังยุตต์
- เล่ม 17 ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ 5 ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ด รวมทั้งเรื่อง สมาธิและทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น 13 สังยุตต์
- เล่ม 18 สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ 6 ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น 10 สังยุตต์
- เล่ม 19 มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม 37 แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบัน และอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น 12 สังยุตต์ (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตร เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)
- เล่ม 20 เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด 1 หมวด 2 หมวด 3 รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
- เล่ม 21 จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 4
- เล่ม 22 ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 5-6
- เล่ม 23 สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 7-8-9
- เล่ม 24 ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 10-11
- เล่ม 25 รวมคัมภีร์ย่อย 5 คือขุททกปาฐะ (บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะมงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร)
ธรรมบท (เฉพาะตัวคาถาทั้ง 423)
อุทาน (พุทธอุทาน 80)
อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย "เอวมฺเม สุตํ" แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า "อิติ วุจฺจติ" รวม 112 สูตร) และ
สุตตนิบาต (ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม 71 สูตร) - เล่ม 26 มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน 4 คือ
วิมานวัตถุ (เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น 85 เรื่อง)
เปตวัตถุ (เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน 51 เรื่อง)
เถรคาถา (คาถาของพระอรหันตเถระ 264 รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น)
เถรีคาถา (คาถาของพระอรหันตเถรี 73 รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น) - เล่ม 27 ชาดก ภาค 1 รวมคาถา แสดงคติธรรมที่ พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี 40 คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม 525 เรื่อง
- เล่ม 28 ชาดก ภาค 2 รวมคาถาอย่างในภาค 1 นั้น เพิ่มอีกแต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่ เรื่องมี 50 คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี 1,000 คาถา รวมอีก 22 เรื่อง บรรจบทั้งสองภาค เป็น 547 ชาดก
- เล่ม 29 มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร 16 สูตร ในอัฏฐกวรรค แห่งสุตตนิบาต
- เล่ม 30 จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร 16 สูตร ในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต
- เล่ม 31 ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่นเรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
- เล่ม 32 อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติ โดยเฉพาะในอดีตชาติ
เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า)
ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า)
ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ)
เรียงลำดับ เริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะพระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไปจนจบภาค 1 รวม พระอรหันตเถระ 410 รูป - เล่ม 33 อปทาน ภาค 2 คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระ ต่ออีกจนถึงรูปที่ 550
ต่อนั้น เป็นเถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี 40 เรื่อง
เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม 16 รูป
ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญ เรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม 33 นี้ มี
คัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต 24 พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ จนถึงประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า 24 พระองค์ จบแล้วมี
คัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ 35 เรื่อง ที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ - เล่ม 34 ธัมมสังคณีต้นเล่มแสดง มาติกา (แม่บท) อันได้แก่ บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด 3 เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามี เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ
และชุด 2 เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น
รวมทั้งหมดมี 164 ชุด หรือ 164 มาติกา
จากนั้น ขยายความมาติกาที่ 1 เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรมและอัพยากฤตธรรมที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
ท้ายเล่มมีอีก 2 บท แสดงคำอธิบายย่อ หรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่ กล่าวถึงข้างต้นจนครบ 164 มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน 2 บท เป็น 2 แบบ
(แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง 122 มาติกา) - เล่ม 35 วิภังค์ยกหลักธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจง แยกแยะ อธิบาย กระจายออกให้เห็นทุกแง่ จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด 18 เรื่อง คือ
ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อริยสัจจ์ 4 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 ฌาน อัปปมัญญา ศีล 5 ปฏิสัมภิทา 4 ญาณประเภทต่างๆ
และเบ็ดเตล็ด ว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ เช่น อธิบายขันธ์ 5 ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น
รวมมี 18 วิภังค์ - เล่ม 36 ธาตุกถานำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก 125 อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และ ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม
เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น - เล่ม 37 กถาวัตถุคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ 3 เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกแล้วถึง 18 นิกาย เช่น ความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด 219 กถา
- เล่ม 38 ยมก ภาค 1คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็น ความหมาย และขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่น ถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์(ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์
หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี 7 คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น
เล่มนี้จึงมี 7 ยมก - เล่ม 39 ยมก ภาค 2ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค 1 อีก 3 เรื่อง คือ
จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก
บรรจบเป็น 10 ยมก - เล่ม 40 ปัฏฐาน ภาค 1คัมภีร์ปัฏฐานอธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแง่ด้านต่างๆ
ธรรมที่นำมาอธิบาย ก็คือ ข้อธรรมที่มีในมาติกา คือ แม่บท หรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณี นั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ 122 มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา
ปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย 24 เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน
จากนั้น จึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ
อนุโลมติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด 3 (ติกมาติกา) โดยปัจจัย 24 นั้น
เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ)
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้วดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนา จนเกิดราคะ ทิฏฐิ, มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ)
อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ)
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้ แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ) อย่างนี้ เป็นต้น
(เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลม คือตามนัยปกติ ไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธ จึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน) - เล่ม 41 ปัฏฐาน ภาค 2 อนุโลมติกปัฏฐาน คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด 3 ต่อจากเล่ม 40
เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (พิจารณารูปเสียงเป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น - เล่ม 42 ปัฏฐาน ภาค 3 อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด 2 (ทุกมาติกา)
เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น - เล่ม 43 ปัฏฐาน ภาค 4 อนุโลมทุกปัฏฐาน
- เล่ม 44 ปัฏฐาน ภาค 5ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย
อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด 2 (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด 3 (ติกมาติกา)
เช่น อธิบาย "กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย" เป็นอย่างไร เป็นต้น
อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด 3 (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด 2 (ทุกมาติกา)
อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด 3 (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด 3 (ติกมาติกา)
โยงระหว่างต่างชุดกัน
เช่น อธิบายว่า "กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม" เป็นอย่างไร เป็นต้น
อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด 2 (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด 2 (ทุกมาติกา)
โยงระหว่างต่างชุดกัน
เช่น ชุดโลกียะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น - เล่ม 45 ปัฏฐาน ภาค 6เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น
ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ
เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ
เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม
เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศล ธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด 3 แล้วต่อด้วยชุด 2 แล้วข้ามชุดระหว่างชุด 2 กับชุด 3 ชุด 3 กับชุด 2 ชุด 3 กับชุด 3 ชุด 2 กับชุด 2 จนครบทั้งหมดเหมือนกัน
ดังนั้น แต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ
(เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้ เรื่อยไปจนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) และ
https://84000.org/tipitaka/read/?mean